วันอังคารที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ก่อนที่จะมีอิสรภาพทางการเงิน

ก่อนที่จะมีอิสรภาพทางการเงิน

คอลัมน์: สารพันปัญหาเงินทอง: ประวีร์ พิชัยศรทัต
         เรียนคุณประวีร์ พิชัยศรทัต ที่นับถือ
         ผมติดตามอ่านคอลัมน์ ได้อ่านตอนที่พูดเรื่องอิสรภาพทางการเงินผมเชื่อว่าใครๆ ก็อยากที่จะมีอิสรภาพทางการเงิน ในการมีเงินมาใช้จ่ายครับ แต่ในภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจแบบนี้ ไหนจะน้ำมันแพง ข้าวก็แพง ของกินของใช้ต่างๆ ก็แพงขึ้นไปหมด แต่เงินได้-เงินเดือนของเราเท่าเดิม ผมอยากจะให้ช่วยมีข้อเสนอมาแนะนำเป็นแนวทางที่จะช่วยให้มีอิสรภาพทางการเงินได้ด้วย ขอขอบคุณสำหรับ การรับพิจารณาเรื่องนี้ด้วยครับ
         ธนา
         ตอบคุณ ธนา
         สวัสดีครับ ก่อนอื่นขอทวนอีกครั้งว่าคำว่า การมี "อิสรภาพทางการเงิน" ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นคนร่ำรวย หาเงินได้มากๆ จะใช้จ่ายอะไรก็เต็มที่ แบบไม่ต้องห่วงอะไรนะครับ แต่การมีอิสรภาพทางการเงินในมุมของเรื่องการเงินก็คือการที่เราสามารถใช้จ่ายได้อย่างมีสุขภาพชีวิตที่ดี พอเพียงแก่ความต้องการ และใช้จ่ายอย่างไม่ต้องมีห่วง ไม่ต้องพะวง จะทำได้ก็มาจากการวางแผนการเงินที่ดี ซึ่งทำให้เรามีช่องในการใช้จ่ายเงินได้อย่างอิสระ ทีนี้เรามาลองดูขั้นตอนสู่อิสรภาพทางการเงินกันนะครับ
         1) จัดทำบัญชี และงบการเงิน การที่เราจะเดินทางสู่อิสรภาพทางการเงินก็เหมือนกันกับการเดินทาง ที่ทั่วไปต้องมีแผนที่นำทาง ดังนั้น ก่อนจะเริ่มเดินทาง ท่านผู้อ่านเองก็ควรจะรู้ก่อนว่า ปัจจุบันท่านอยู่ ณ จุดไหนของคำว่า "อิสรภาพทางการเงิน" ลองมาทบทวนและจัดทำงบการเงินดูนะครับ เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าแต่ละวัน แต่ละเดือน เราใช้เงินไปกับอะไรบ้าง และอยู่ในงบที่เรามีหรือไม่ หรือใช้เกินงบไปเท่าไหร่ เพราะอะไร
         2) ตั้งเป้าหมาย และวางแผน เริ่มต้นจากอิสรภาพทางการเงินที่เขาจัดไว้ในสิ่งที่เป็นขั้นพื้นฐานซึ่งมีอยู่ 6 ประการ ที่ต้องมีการกำหนดและวางแผนคือ
         * เศรษฐกิจพอเพียง คือรู้ที่จะไม่ใช้จ่ายเกินฐานะแห่งตน
         * เก็บออม 10-20 เปอร์เซ็นต์ ของรายรับทั้งหมด (ประมาณ) จะเป็นร้อยละเท่าไร ตรงนี้แล้วแต่สัดส่วนของรายได้และรายจ่ายครับ
         * สำรองเงินไว้ใช้จ่าย ให้มีอย่างน้อย 6 เดือน และเงินส่วนนี้ไม่เกี่ยวกับเงินออม
         * ประกันชีวิต สุขภาพ และอุบัติเหตุ ควรมีให้พร้อม เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งและเพื่อความสบายใจ
         * เรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับรายรับรายจ่าย แผนการเงิน การลงทุน
         * มีการบริจาคตามกำลัง อันนี้แต่ละคนคงไม่เท่ากันลองพิจารณาดูว่าชีวิตของท่านผู้อ่านบรรลุเป้าหมายพื้นฐานในแต่ละข้อข้างต้นหรือยัง ถ้ายัง ให้กำหนดหัวข้อเหล่านี้เป็นเป้าหมาย ที่สำคัญต้องกำหนดวิธีการ กรอบเวลา รวมถึงประเมินภาพในอนาคตไว้ด้วย ส่วนใครที่มีอิสรภาพการเงินขั้นพื้นฐานแล้ว ก็อาจตั้งเป้าหมายที่สูงขึ้นไปได้ ไม่ว่ากัน ซึ่งต่อไปก็คือ
         3) ลงทุนในการเรียนรู้ มีคำกล่าวว่า "High Understanding, High Returns" ซึ่งตรงนี้บอกเราว่า ยิ่งเราเข้าใจธุรกิจที่เราลงทุนมากเท่าไหร่ เราก็จะสามารถสร้างกำไรจากมันได้มากเท่านั้น จึงบอกกันว่าจงเรียนรู้ให้หนักขึ้น เพื่อจำกัดความเสี่ยงทั้งหลายทั้งปวงที่อาจจะเกิดขึ้น โลกนี้ไม่ได้ยากเย็นอย่างที่เราคิดครับ แต่ที่ใครหลายคนคิดว่ามันยาก เพราะเขาเหล่านั้นไม่เคยแบ่งเวลามาสนใจใยดีกับมันต่างหาก
         ฉะนั้น แนะนำให้แบ่งเวลาและแบ่งใจให้กับการเรียนรู้ทุกรูปแบบ อย่าจำ กัดเฉพาะแต่ในห้องเรียน จงมองโลกให้กว้างเพื่อที่เราจะได้เห็นโอกาสที่ซ่อนอยู่อีกมากมายบนโลกใบนี้ ติดตามต่อตอนจบในฉบับหน้าครับ.
         คราวก่อนพูดค้างไว้เรื่องอิสรภาพทางการเงินซึ่งผมก็เชื่ออย่างที่คุณธนาเขียนมาคือ ผมเชื่อว่าใครๆก็อยากที่จะมีอิสรภาพทางการเงินในการมีเงินมาใช้จ่าย ฉบับที่แล้วพูดไว้ถึง ขั้นตอนสู่อิสรภาพทางการเงิน ค้างถึงขั้นที่สามยังไม่จบ คือการลงทุนในการเรียนรู้ เรามาต่อที่ว่า แล้วเราลงทุนในการเรียนรู้ด้วยอะไรบ้าง?
         * เวลา นี่คือสิ่งสำคัญที่สุดที่คุณต้องพิจารณา ปัจจุบันคุณให้เวลากับการเรียนรู้สักแค่ไหน ถ้าคิดว่ายังน้อยไป จัดแบ่งเวลาในการเรียนรู้ให้มากขึ้น แล้วคุณจะได้รับมันมากขึ้น
         * ความคิด คนสองคนเข้าคอร์สเดียวกัน นั่งเรียนอยู่ด้วยกัน คนหนึ่งเอากลับมาคิดต่อยอดไปสู่การกระทำ ส่วนอีกคนได้แค่นั่ง ดีใจว่ารู้แล้ว ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับสองคนนี้อาจต่างกันมหาศาลครับ
         * สายสัมพันธ์ การลงทุนในสายสัมพันธ์ (ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเครือข่าย หรือ connection อย่างเดียวนะครับ) ก็สามารถสร้างการเรียนรู้ได้อย่างมากมาย คนหลายคนมักคบหา หรือคิดถึงคนอื่นยามที่ตัวเองเดือดร้อนเท่านั้น เรียนรู้ที่จะใช้เวลากับผู้อื่นแบ่งปันความรู้ ความคิด ความช่วยเหลือให้กับคนรอบข้าง โดยเฉพาะคนที่แตกต่างจากคุณ เพราะมันจะช่วยให้โลกของคุณกว้างขึ้น ไม่เพียงแค่ความรู้ แต่มันคือโลกแห่งความรัก และความเอื้ออาทรกัน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เงินก็ซื้อหาไม่ได้
         * ความรู้ เข้าร่วมทำงานกับองค์กร หรือชมรมที่ท่านสนใจ เพื่อสร้างโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน อันจะก่อให้เกิดบูรณาการทางความรู้และความคิดได้เป็นอย่างดี* การตั้งคำถาม คำถามที่ดีเป็นการสร้างโจทย์ที่ยอดเยี่ยมให้แก่ชีวิต ในทางตรงกันข้าม คำถามแย่ๆ ก็ทำให้คุณเป็นคนในด้านตรงกันข้ามได้เช่นกัน ลองพิจารณาคำถามต่อไปนี้นะครับ
         "ทำไม เราไม่เกิดมารวยเหมือนคนอื่นบ้าง""ทำไม เราไม่โชคดีเหมือนคนอื่นเขาบ้าง" ฯลฯ แล้วถ้าเราเริ่มต้นใหม่ ตั้งคำถามที่ดีให้กับตัวเอง แล้วท่านผู้อ่านจะได้คำตอบที่ดีกลับคืนมา อย่าง "ฉันจะประสบความสำเร็จในชีวิตก่อนอายุ 40 ปี ได้อย่างไร" คำถามใหม่ๆ จะนำคุณไปสู่การลงทุนครั้งใหม่ในชีวิต จงเลิกถามคำถามเก่าๆ ใช้ชีวิตกับคำถามใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์ เช่น "หุ้นตัวไหนน่าซื้อ" "กู้เงินแบงก์ไหน ดอกเบี้ยต่ำสุด" "มีเงินเก็บ 100,000 ทำธุรกิจอะไรดี" "สิ่งที่ท่านผู้อ่านถาม คือ สิ่งที่ท่านจะได้รับนะครับ" ยังมีคำถาม อื่นๆอีกมากมาย (ลองคิดต่อเองนะครับ)
         4.แวดล้อมตัวเรา ด้วยคนที่คิดแบบเดียวกัน คนเราเป็นไปตามสภาวะแวดล้อมเสมอ อิสรภาพทางการเงิน เกิดได้ทันทีที่เราเป็นผู้เลือกกระทำ ดังนั้น จงเลือกสภาวะแวดล้อมที่จะพาชีวิตของเราไปในทางที่ดี คล้ายๆ กับที่สุภาษิตบอกให้คบบัณฑิต เพราะบัณฑิตพาไปหาผล นั่นไงครับ
         5. ลงมือปฏิบัติ บันทึกผล "บิดาของความสำเร็จ คือ การกระทำ" คำพูดนี้ยังคงเป็นสิ่งที่เป็นจริงเสมอ ขอให้ลงมือปฏิบัติตามแผนงานที่กำหนดไว้ จดรายละเอียดของทุกการ กระทำสำคัญๆ ไว้ เพื่อเปรียบเทียบและปรับแก้แผนงานสู่อิสรภาพทางการเงิน
        6. ทบทวน ตรวจสอบผลการปฏิบัติกับแผนที่วางไว้ ว่าเป็นไปตามแผนแค่ไหน ต้องปรับแก้อะไร ในขั้นตอนนี้อาจปรึกษาผู้ประสบความสำเร็จ เพื่อช่วยทบทวนและให้คำแนะนำในการปฏิบัติที่ถูกต้องต่อไป หัวข้ออะไรบ้างที่ต้องทบทวน
         * ความคิด สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ต้องตรวจสอบตลอดเวลา หมั่นคอยเช็กและตรวจสอบความคิดของเรา ถูกต้อง หรือสอดคล้องกับแนวทางสู่อิสรภาพทางการเงิน หรือไม่
         * จิตใจ ตรวจสอบจิตใจทั้งก่อนและหลังตัดสินใจใช้จ่าย หรือลงทุน จำเอาไว้ว่า การลงทุนที่ทำให้คุณรู้สึกไม่มีความสุขตั้งแต่ใส่เงินลงไป นั่นก็ถือว่า ขาดทุน เรียบร้อยแล้ว
         * งบการเงิน ตรวจสอบแผนที่ทุกครั้ง โดยอาจทำเป็นประจำทุกเดือน เพื่อคอยตรวจสอบว่า เราเดินออกนอกลู่นอกทางหรือเปล่า หรือเราเข้าใกล้อิสรภาพทางการเงินเพียงใด เริ่มต้นตรวจสอบตัวเอง จัดทำบัญชี และวางแผนสู่อิสรภาพทางการเงินตั้งแต่วันนี้ อย่าผัดวันประกันพรุ่ง จงจำเอาไว้ว่า "อิสรภาพทางการเงิน เริ่มต้นจากก้าวเล็กๆ ของทุกๆ คนครับ" ขอขอบคุณความอนุเคราะห์ข้อมูลจาก bizkons.com ครับ.
         ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น